การจัดการทรัพย์สินครอบครัวเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นนับเป็นเรื่องที่ใหญ่และแก้ไขได้ค่อนข้างยากเนื่องจากมีเรื่องของทรัพย์สิน และเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
วันนี้ Befin Academy รวบรวมข้อผิดพลาดที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกไม่ถึง มาดูกันว่ามีอะไรกันบ้างที่เราต้องรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดการทรัพย์สินของครอบครัวขึ้นในอนาคต
1. ขาดความรู้ ทำให้ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า
เพราะความไม่รู้ และไม่ได้เห็นความสำคัญของการจัดการทรัพย์สินครอบครัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทำให้การแก้ปัญหานั้นเป็นไปได้ยาก
2. ใช้เครื่องมือทางการเงินไม่เหมาะสม
เครื่องมือทางการเงินมีมากมายให้เลือกใช้ แต่หากเลือกใช้ผิด เช่น การมองว่าเงินฝากคือสภาพคล่องแต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่สภาพคล่องก็ได้ บางกรณีอาจจะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ในยามจำเป็น หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการลงทุน ที่มีความผัน ก็สามารถขาดทุนได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้เครื่องมือทางการเงินให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการจัดการทรัพย์สินครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
3. มีทรัพย์สินหลายอย่างกระจัดกระจาย ดูแลสินทรัพย์ได้ยาก
ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นลูกค้ารายใหญ่หรือเป็นเจ้าของกิจการ ทรัพย์สินที่ลูกค้ามีอยู่จะมีมากมายทั้งทรัพย์สินที่เป็นชื่อของตัวเอง ทรัพย์สินที่เป็นชื่อของคนในครอบครัว และทรัพย์สินที่เป็นชื่อของบริษัท ดังนั้นหากไม่มีการจัดระเบียบใหม่และไม่บริหารจัดการให้ดี จะทำให้การจัดการทรัพย์สินในภาพรวมนั้นจัดการได้ยาก
4. ใช้เครื่องมือทางกฎหมายไม่ถูกต้อง
บางครั้งที่ปรึกษาทางการเงินมองข้ามการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย เพราะใช้แต่เครื่องมือทางการเงินเป็นหลักในการจัดการทรัพย์สินครอบครัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นสุดท้ายใช้เครื่องมือทางกฎหมายเข้ามาช่วยจะส่งผลให้ครอบครัวมีปัญหาตามมา เพราะฉนั้นในการเข้าใจกฎหมายที่จำเป็นและเกี่ยวกับกฎหมายของครอบครัวจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายและลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
5. ทำประกันชีวิตไม่สัมพันธ์กับความต้องการในแต่ละช่วงวัย
คนส่วนมากเลือกทำประกันชีวิตแต่อาจจะไม่สัมพันธ์กับความต้องการของคนภายในครอบครัว อาจจะจ่ายมากเกินทำให้สิ่งที่ได้มาไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป หรืออาจจะทำประกันความเสี่ยงน้อยเกินไปกับสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องมาทบทวนว่าคนในครอบครัวเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประกันในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่
6. ขาดการเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังเสียชีวิต
ในเรื่องของการจัดการทรัพย์สินครอบครัวนั้น ในตอนที่มีชีวิตอยู่ก็จะมีการจัดการทรัพย์สินครอบครัวแบบหนึ่ง ตอนที่เสียชีวิตก็จะมีการจัดการมรดกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกัน ฉนั้นผู้ที่เป็นผู้นำครอบครัวต้องเข้าใจถึงการจัดการทรัพย์สินทั้งก่อนและหลังเสียชีวิต เพื่อที่จะได้วางแผนอย่างครบถ้วนไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตเวลาที่เราไม่อยู่แล้ว